วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สถานที่ท่องเที่ยว อําเภอเมืองอำนาจเจริญ


พุทธอุทยาน และ พระมงคลมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่เขาด้านพระบาทห่างจากตัวเมืองไปทางด้านเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดประกอบด้วย หินด้านธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น พุทธอุทยาน สวนพระมงคลมิ่งเมือง หรือพระให้ ป่างมารวิชัย องค์พระหน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20เมตรเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลสกุลศิลปอินเดียเหนือ (ป่าละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษออกแบบโดยจิตรบัวบุศย์

โดยการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กครอบพระองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทองสร้างเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของ
ชาวจังหวัดอํานาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี

พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจําภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า พระละฮาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระขี่ลาย หมายถึง ไม้สวย ไม้งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทําฝายกั้นน้ำ ถือกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ชาวบ้านมักมาบนบานขอพรอยู่เสมอ

จังหวัดอำนาจเจริญ

จังหวัดอำนาจเจริญ

จังหวัดอํานาจเจริญ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ โดยเส้นทางรถยนต์ประมาณ 568 กิโลเมตร มีพื้นที่การปกครองทั้งสิ้น 3,161.248 ตารางกิโลเมตร เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยขึ้นอยู่กับนครเขมราฐต่อมาจึงได้ย้ายมาขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานีจนกระทั่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดอํานาจเจริญ เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2536

อาณาเขตและการปกครอง
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดยโสธร ที่อําเภอเลิงนกทาและจังหวัดมุดาหาร ที่อําเภอดอนตาล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงด่านอําเภอชานุมาน เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร
และติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานีที่อําเภอเขมราฐ อําเภอกุดข้าวปุ้น และอําเภอตระการพืชผล
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยโสธร ที่อําเภอป่าติ้วและ อําเภอเลิงนกทา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่อําเภอเมือง อุบลราชธานี และอําเภอม่วงสามสิบ
อํานาจเจริญ แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อําเภอ และ 1 กิ่งอําเภอ คือ อําเภอเมือง อําเภอหัวตะพาน อําเภอพนา อําเภอเสนางคนิคม อําเภอชานุมาน อําเภอปทุมราชวงศา และกิ่งอําเภอลืออํานาจ


การเดินทาง
การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดอํานาจเจริญญ สะดวกสบายทั้งทางรถยนต์ รถไฟ หรืออาจใช้ทางอากาศ โดยใช้บริการของสนามบินนานาชาติ ที่จังหวัดอุบลราชธานี
ทางรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน)และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา-สุรินทร์ และใช้ทางหลวงหมายเลข 214 สุรินทร์-อําเภอสุวรรณภูมิแล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ผ่านจังหวัดยโสธร และอําเภอป่าติ้ว ถึงจังหวัดอํานาจเจริญรวมระยะทาง 580 กิโลเมตร หรือสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา อุบลราชธานี ถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 212 อุบลราชธานี-อํานาจเจริญ รวมเป็นระยะทาง 704 กิโลเมตร
ทางรถโดยสารประจําทาง มีทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ซึ่งเป็นรถโดยสารที่วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ออกจาก
สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกําแพงเพชร 2 ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 936-2852-66 จากนั้นใช้รถโดยสารประจําทางที่วิ่งระหว่างอุบลราชธานี-มุกดาหาร-ธาตุพนม ซึ่งจะผ่านจังหวัดอํานาจเจริญญ มี 2 บริษัท คือ

- บริษัทสายัณห์เดินรถ จํากัด เป็นรถโดยสารธรรมดา มีเวลารถออกดังนี้คือ 06.00 น. 07.00 น. 09.00 น. 11.00 น. 12.00 น. และ
เวลา 13.00 น. ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่คิวรถตลาดบ้านดอนกลาง รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทร. (045) 242163, 241820

- บริษัทสหมิตรทัวร์ เป็นรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งวิ่งระหว่างอุบลราชธานี-นครพนม มีเวลาออกดังนี้คือ 06.30 น. และเวลา 14.00 น. ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่ บริษัทสหมิตรทัวร์ ถนนเขื่อนธานี ตรงขามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

รถไฟ มีรถด่วนและรถเร็วทุกวัน ซึ่งเป็นรถไฟที่วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา
อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชสีมา อีกด้วยจากนั้น ใช้รถโดยสารประจําทางที่วิ่งระหว่างอุบลราช ธานี-มุกดาหาร-ธาตุพนม หรือใช้รถประจําทางที่วิ่งระหว่างอุบลราชธานี-นครพนม ก็ได้ รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020

เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) มีเครื่องบินรับสงผูโดยสาร และพัสดุภัณฑ ระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี
และอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท การบินไทย จํากัด ถนนหลานหลวง โทร. 280-0060, 628-2000 อุบลราชธานี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สํานักงานขายตั๋ว โทร.(045) 313340-43 หรือ ที่ทําการสนามบิน โทร. (045) 243037-38

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุณบั้งไฟ



ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ
ประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)
เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า "เตินป่าว" ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า "สลากใส่บุญ" เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่างๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศานาเข้าไปด้วย เช่น การบวชและการฮดสงฆ์ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง กองฮด พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์
ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ (ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว) บอกบุญให้บ้านเรือน 3-4 หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง (ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่) ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ (เพราะต้องจัดงานเลี้ยงญาติพี่น้องอยู่แล้ว)
ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ หรือ "ผาม" หรือ "ตูบบุญ ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ
ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย "ฉบับ" ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ในสมัยผมยังเป็นเด็ก 20 กว่าปีผ่านมาแล้ว ผมก็เป็นลูกมือพระด้วยการไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิวเรียกว่า การทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา

การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด (สมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพซ้ายมือ)

ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป (เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)

นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน

หมอลำซิ่ง


หมอลำกลอนซิ่ง
..หมอลำกลอนซิ่งเป็นศิลปะการแสดงของชาวอีสานโดยได้นำเอาศิลปะที่มีมาตั้งแต่เดิมมาดัดแปลงประยุกต์ให้ทันสมัยคือนำเอาหมอลำกลอนซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นการลำประกอบแคนเพียงอย่างเดียวมาประยุกต์เข้าดนตรีชิ้นอื่น ๆ เช่น พิณ เบส และกลองชุด จนได้รับความนิยม ปัจจุบันได้มีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลเช่น ออร์แกน คีย์บอร์ดมาประยุกต์เล่นเป็นทำนองหมอลำ ทำให้จังหวะสนุกคึกครื้น ประกอบกับการนำเพลงสากลเพลงสตริงเพลงลูกทุ่ง ที่กำลังฮิตมาประยุกต์เข้าด้วยลำซิ่ง เป็นวิวัฒนาการของลำคู่ (เพราะใช้หมอลำ 2-3 คน) ใช้เครื่องดนตรี สากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน มีหางเครื่องเหมือนดนตรีลูกทุ่ง กลอนลำสนุกสนานมีจังหวะอันเร้าใจทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
.........หมอลำกลอนซิ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจความความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอีกแขนงหนึ่ง ที่ชาวอีสานนิยมจ้างไปเป็นมหรสพสมโภชน์งานที่ได้จัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ
.........รูปแบบการแสดง จะเป็นการร้องรำทำนองหมอลำประยุกต์กับเพลงที่สนุก โดยมี หมอลำฝ่ายชายคอยร้องแก้กับ หมอลำฝ่ายหญิง พร้อมกับ การ โชว์ลีลา การร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงามและมีหมอแคนเป่าแคนประกบอยู่ข้าง ๆเพื่อคอยคลอแคนให้หมอลำไม่หลงคีย์เสียงของตนเอง ซึ่งหมอลำแต่ละคนจะมีหมอแคนประจำตัวของตัวเองปัจจุบัน วงหมอลำซิ่งใหญ่ ๆ จะมีหางเครื่องเพื่อเพิ่มสีสันอีกด้วย
...........การว่าจ้าง เจ้าภาพจะเป็นคนจับคู่หมอลำเอง เพื่อจะได้เห็นการร้องแก้กันด้วยความสนุกสนานและมีไหวพริบ

บุญบั้งไฟ

บั้งไฟที่จัดทำให้มีหลายชนิด คือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้น หมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นกิโล ก็ใช้ดินประภว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสน ก็ใช้ดินประสิว 10 หมื่น หรือ 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหน ก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือ ก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้น สำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวนผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตร บั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องเป็นไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน
ในวันรุ่งขึ้น เป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา

งานประเพณีบุญบั้งไฟ


งานประเพณีบุญบั้งไฟ



งานประเพณีบุญบั้งไฟ มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยมีความเชื่อว่า เมื่อจัดงานนี้แล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ กิจกรรมที่สำคัญในงานประกอบด้วย
วันแรก จะมีการจัดขบวนแห่บั้งไฟตกแต่ง ไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมือง การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การจัดงานเลี้ยงพาข้าวแลง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

วันที่สอง จะมีการแข่งขันการจุดบั้งไฟ

พิธีกรรม บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม ด้วยลวดลายไทยสีทอง ว่ากันว่า ศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้น จะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้น พ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่นๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี


ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี
สถานที่ท่องเที่ยว
:: ลำน้ำสะแกกรัง ::


ไหลผ่านตัวจังหวัดอุทัยธานี มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน เมื่อพ่อค้าล่องเรือผ่านมา จะรู้ได้ว่าถึงบ้านสะแกกรัง แล้ว โดยเฉพาะใน เดือนยี่ถึงเดือนสามจะสังเกตได้ชัดเจน ต้นสะแกจะออกดอกเล็กๆ ช่อยาวสีเขียวอมเหลืองห้อย ลงมาริมน้ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำจะมีเรือนแพอยู่เรียงราย ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกมีอาคารบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เป็นตลาดใหญ่ ส่วนฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเกาะเทโพ มีทุ่งนา สวนผัก สวนผลไม้ และป่าไผ่ตามธรรมชาติ เรือนแพที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนไม้สร้างคร่อมบนแพลูกบวบไม้ไผ่ ชาวแพบอกว่าอยู่แพแล้วสบาย หน้าร้อนลมเย็น หน้าหนาวตอนเช้าแดดอุ่นชาวเรือนแพเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงในช่วงเช้า หลังจาก ที่ได้ปลามาจะนำมาชำแหละ เสียบไม้เป็นแผง ผึ่งให้แห้ง ย่างรมควันทำเป็นปลาแห้ง และนำไปขายใน ตลาด ตามเรือนแพริมน้ำเหล่านี้ยังมีกระชังเลี้ยงปลาสวาย ปลาแรด และปลาเทโพบ้างเล็กน้อยปกติปลาแรดที่เลี้ยง ในกระชังจะไม่คาวเหมือนปลาแรดที่เลี้ยงในบ่อดินอยู่แล้ว แต่ปลาแรดในกระชังของที่นี่นับว่าขึ้นชื่อมาก เพราะเนื้อแน่นนุ่มและหวาน บางคนกล่าวว่า เป็นเพราะน้ำที่นี่มีการไหลเวียนดีและอาจมีแร่ธาตุบางอย่างอยู่ ปลาแรดจึงมีเนื้อนุ่มสภาพความเป็นอยู่ที่สามารถพบเห็นตามสองฝั่งลำน้ำสะแกกรัง จึงเหมาะสำหรับนั่งเรือชมทิวทัศน์ โดยจะนั่งเรือไปถึง อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทก็ได้ โดยจะวนเฉพาะรอบตัวเกาะเทโพ หรือนักท่องเที่ยว สามารถว่าจ้างเรือจากบริเวณท่าเรือตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี เรือจะล่องไปมโนรมย์ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าล่องเรือในช่วงเย็น คือประมาณ 16.00-18.00 น. จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกซึ่งสวยงามมาก และในช่วง เดือนธันวาคม-มกราคม จะเห็นยอดักปลาเต็มไปหมด บางครั้งอาจได้เห็นชาวบ้านพายเรือมาเก็บผักตบชวา เพื่อนำใบไปรองเข่งปลา หรือจะนำไปเลี้ยงหมูก็ได้ เรือล่องแม่น้ำสะแกกรัง ติดต่อได้ที่บริเวณสะพานวัดโบสถ์ หากเป็นเรือหางยาวจุได้ประมาณ 10-12 คน ค่าเช่าเรือ 500 บาทต่อชั่วโมง เรือนำเที่ยวขนาดจุ 40 คน วิ่งไปอำเภอมโนรมย์ ราคา 3,500 บาท ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สั่งอาหารไปรับประทานบนเรือได้ ติดต่อ ได้ที่ บริษัท แพนเฮ้าส์ จำกัด หรือ คุณวีระ บำรุงศรี โทร. 0 2933 0577, 0 2538 0335, 0 2538 3491, 0 2538 3705,0 2530 5013 นอกจากนี้บริเวณลานสุพรรณิการ์ข้างศาลากลางจังหวัดยังมีบริการให้เช่าเรือคายัคพายเล่นในแม่น้ำสะแกกรัง มีทั้งแบบพายคนเดียว 2 ที่นั่ง และ 3 ที่นั่ง ค่าเช่า ชั่วโมงละ 10 - 30 บาท มีเสื้อชูชีพบริการตัวละ 10 บาท ติดต่อปกครองจังหวัด โทร. 0 5651 1444.

:: หุบป่าตาด ::


เข้าทางเดียวกับกับเขาปลาร้า อยู่ก่อนถึงเขาปลาร้าประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้ำนี้ถูกค้นพบโดยพระครูสันติธรรมโกศล (หลวงพ่อทองหยด) เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง เมื่อปี พ.ศ. 2522 พระครูได้ปีนลงไปในหุบเขานี้ จึงพบว่ามีต้นตาด เต็มไปหมด (ต้นตาดเป็นไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลเดียวกับปาล์ม) จึงเจาะปากถ้ำเพื่อเป็นทางเข้าในปี พ.ศ. 2527 ต่อมากรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพราะที่นี่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แปลกและ มีพันธุ์ไม้หายาก อยู่ในความดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำประทุน และมีการจัดทำเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 700 เมตร ใช้เวลาเดินชมประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้ำที่เป็นทางเดินเข้าหุบป่าตาดนั้นมืดสนิท ระยะทางประมาณ 100 เดินไม่นานจะถึงบริเวณปล่องขนาดใหญ่ที่แสงส่องลงมาได้และจะพบป่าตาด ให้ความรู้สึกเหมือนว่าได้มาอยู่ใน โลกยุคดึกดำบรรพ์ นอกจากต้นตาดแล้วที่นี่ยังพบไม้หายากพันธุ์อื่น ๆ เช่น เต่าร้าง เปล้า คัดค้าวเล็ก เป็นต้น ในบริเวณหุบเขานี้มีลักษณะคล้ายป่าดงดิบและยังมีความชุ่มชื้นสูง แสงจะส่องถึงพื้นได้เฉพาะตอนเที่ยงวัน เพราะมีเขาหินปูนสูงชันล้อมรอบ มีความร่มรื่นเหมาะแก่การเดินชมธรรมชาติ การเตรียมตัวไปหุบป่าตาด ควรพกไฟฉายและยาทากันยุงไปด้วย

:: น้ำตกไซเบอร์ หรือน้ำตกหินลาด ::
อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ เป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้หมู่บ้านไซเบอร์ (บ้านซับแม่บือ) ตำบล คอกควาย อำเภอ ห้วยคต อยู่ห่างจากจังหวัด 86 กิโลเมตร น้ำตกนี้เกิดจากลำห้วยล่อยจ้อยที่ไหลมาจาก ภูเขาสูงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำให้เกิดน้ำตกขึ้นเป็นระยะๆ หลายชั้น น้ำตกส่วนที่อยู่ตอนบนเรียกว่า น้ำตกล่อยจ้อย บางแห่งตกจากที่สูงปะทะกับก้อนหินใหญ่ เรียกว่า น้ำตกหินลาด ข้างล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ รับน้ำตกที่ตกลงมาไม่ขาดสาย บางแห่งไหลซอกซอนไปตามเกาะแก่งหินลงสู่เบื้องล่าง เป็นทางยาวสูงต่ำหลายชั้น สวยงามมาก จะมีน้ำมากช่วง เดือนกันยายน - ต้นเดือนพฤศจิกายน ลำห้วยล่อยจ้อยจะไหลไปรวมกับห้วยทับเสลา บริเวณโดยรอบเป็นป่าหวายและมีต้นไม้ร่มครึ้ม และในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงใบไม้เปลี่ยนสีด้วย

:: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ::
ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มอบเป็นรางวัลแก่คนไทยและคนทั้งโลก อีกทั้งเป็นพื้นที่ ทรงคุณค่าต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งคนและสัตว์ป่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกแห่งแผ่นดินตลอดไป ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ระหว่างวันที่ 9 - 13 ธันวาคม 2534 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ห้วยขาแข้งมีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัดคือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ 3,609,375 ไร่ หรือ 5,775 ตารางกิโลเมตร โดยมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้ามาด้วยทำให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต่อเนื่องที่มี ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

:: เขาปลาร้า ::
เป็นเขาที่แบ่งเขตหมู่บ้านห้วยโศก อำเภอลานสัก กับตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร ไปตามทางสายหนองฉาง – ลาน สักประมาณ 21.5 กิโลเมตร แล้วแยกไปตามทางคอนกรีตประมาณ 7.5 กิโลเมตร หรือหากมาโดยรถโดยสารสามารถนั่งรถสายอุทัยธานี - ลานสัก และต่อรถจากลานสักมาที่แยกห้วยโศก จากนั้นต่อรถจักรยานยนตร์รับจ้างเข้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปลาร้า

:: น้ำตกผาร่มเย็น ::
สามารถมองเห็นได้จากริมถนน เป็นสายน้ำสีขาวทิ้งตัวลงมาในป่าทึบอยู่เบื้องล่าง ชาวอุทัยว่าที่นี่เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในจังหวัด เพราะ สายน้ำที่ไหลลงมานั้นเป็นสายบางๆ ตกลงมาตรงๆ คล้ายสายฝน โดยผ่านหน้าผาดินที่มีมอสสีเขียวเกาะอยู่เต็มไปหมด ประกอบกับพื้นที่เป็นป่ารกครึ้ม ทำให้คนที่ได้ยืนชมมีความรู้สึกชุ่มฉ่ำเย็นตามไปด้วย ทางเดินเข้าสู่น้ำตกผาร่มเย็นใช้เวลาประมาณ 20 นาที ปกติเดินเองได้ แต่หากต้องการคนนำทางติดต่อได้ที่ อบต.เจ้าวัด หรือสามารถติดต่อผ่านสวนห้วยป่าปก รีสอร์ท โทร. 0 5653 9085 การเดินทาง ตัวน้ำตกอยู่ในตำบลเจ้าวัด อำเภอบ้านไร่ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 14 กิโลเมตร จากสามแยกอำเภอบ้านไร่เลี้ยวไปตามทางหลวงหมายเลข 3282 ประมาณ 500 เมตร และเลี้ยวซ้ายเข้าทางลาดยางข้างปั๊มน้ำมันปตท. ตรงไปประมาณ 14 กิโลเมตร

:: ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมือง(กลุ่มทอผ้าไพจิตต์) ::
ตั้งอยู่หลังวัดบ้านไร่ ติดกับโรงเรียนบ้านหน้าฝายบึงตาโพ เลี้ยวเข้าซอยข้างโรงเรียนไป 700 เมตร เป็นกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งรับสอนด้วย ลายที่ทอเป็นลายโบราณ เช่นลายหมาน้อย ลายขอหลวง ลายขอคำเดือน มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายด้วย เช่น มีทั้งผ้าซิ่น ผ้าแต่ง ผ้าคลุมเตียง ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าตัดชุด หมอนขิด ในบริเวณยังมีพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณอายุกว่าร้อยปี

:: น้ำพุร้อนบ้านสมอทอง ::
ตั้งอยู่ที่บ้านสมอทอง ตำบล คอกควาย อยู่ในโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว เดิมเป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติขนาดเล็กที่ผุดขึ้นมาผิวดิน เป็นน้ำใสและมีกลิ่นกำมะถันฉุนมีความร้อนขนาดต้มไข่สุกภายใน 5 นาที ไหลผ่านช่องเขาไปรวมกับน้ำในลำห้วยคอกควาย ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นบ่อน้ำพุร้อน และเป็นจุดชมทิวทัศน์ และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงาม การเดินทาง สามารถเดินทางจากอำเภอหนองฉางสู่อำเภอบ้านไร่ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3282 (บ้านไร่ - ลานสัก) ประมาณ 33 กิโลเมตร สังเกตเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่ทางขวามือตรงกลางหุบเขาพอดี เมื่อผ่านสะพานข้ามคลองไปได้สองสะพานจะมีทางแยกตรงทางโค้งเข้าสู่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้วไป 2 กิโลเมตร จะถึงบริเวณน้ำพุร้อนบ้านสมอทอง

:: เมืองอุไทยธานีเก่า ::
อยู่ที่บ้านอุทัยธานีเก่า เป็นที่ตั้งของเมืองอุไทยธานีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงมีซากโบราณสถานเหลืออยู่ เช่น ที่วัดหัวหมาก วัดยาง และวัดกุฏิ ส่วนบริเวณโดยรอบได้กลายเป็นทุ่งนาไปหมด อีกวัดหนึ่งคือ วัดหัวเมือง ซึ่งยังคงมีซากโบสถ์เก่าแบบอยุธยาเหลืออยู่ และเจดีย์โบราณขนาดเล็กหน้าโบสถ์เก่า การเดินทาง จากตลาดหนองฉางสามแยกโรงเรียนประสาทเวทย์ ตรงมาทางเดียวกับวัดหนองขุนชาติ พบสามแยกเลี้ยวขวาไปยังทางตรงข้ามกับวัดหนองขุนชาติประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงวัดแจ้ง ส่วนวัดหัวเมืองจะอยู่เลยวัดแจ้งไปอีก 1 กิโลเมตร

:: บึงทับแต้ ::
จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 3265 ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางลูกรัง บริเวณสะพานคลองยางไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรืออาจจะเช่าเรือจากบริเวณปากคลองยางเข้าไปยังบึงเป็นระยะทาง 5 - 6 กิโลเมตร บึงทับแต้อยู่ตอนปลายของห้วยขวี ซึ่งมีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ส่วนที่เป็นบึงกว้างประมาณ 300 เมตร เป็นแหล่งที่มีปลาอาศัยอยู่ริมบึงอย่างชุกชุม ชาวบ้านได้อาศัยน้ำและจับปลาในบึงนี้ และในช่วงฤดูหนาวจะมีแขกต่างถิ่นคือนกเป็ดน้ำอพยพมาอยู่ที่นี่ ริมบึงบริเวณบ้านท่าทอง พบแหล่งของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ มีเครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผา ลูกปัด กำไลแก้ว เป็นต้น จัดว่าเป็นชนเผ่าที่เจริญ เพราะรู้จักใช้โลหะเป็นเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังพบขวดเหล้าของชาวตะวันตกสมัยอยุธยาด้วย

:: เมืองโบราณบึงคอกช้าง ::
อยู่ที่ตำบลไผ่เขียว ใช้เส้นทางสว่างอารมณ์ - ลาดยาว (ทางหลวงหมายเลข 3013) ก่อนสุดเขตจังหวัดอุทัยธานี มีทางแยกไปบึงคอกช้าง อีกประมาณ 20 กิโลเมตร ค่อนข้างห่างไกลชุมชน เป็นเมืองโบราณที่มีคูเมืองและกำแพงดินล้อมรอบ ค้นพบซากโบราณ เครื่องปั้นดินเผา หินบดยา เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดสีเหลือง นอกจากนี้ยังขุดพบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ 3 หลัก ปัจจุบันมีสภาพเป็นสวนป่าปลูกมีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนบริเวณคูเมืองตื้นเขิน โบราณวัตถุที่ถูกค้นพบได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดอุทัยธานี ใกล้กับศาลากลางจังหวัด

:: ถ้ำเขาฆ้องชัย ::
เป็นเทือกเขาอยู่ในตำบลลานสัก มีความสูงประมาณ 353 เมตร ทางด้านหน้าของเขาฆ้องชัยเป็นถ้ำตื้นกว้างเหมือนอุโมงค์ใหญ่ เข้าใจว่าเดิมมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่เพราะพบเครื่องมือหิน และเศษภาชนะดินเผา ภายในบริเวณถ้ำแห่งนี้มีฝูงค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาเย็นจะแลเห็นฝูงค้างคาวบินออกมาหากินนานนับชั่วโมง และถ้าสามารถปีนหน้าผาสูงไปได้จะพบถ้ำอยู่ทางด้านบน มีถ้ำธงชัย ถ้ำมหาสมบัติ ถ้ำเป็ด และถ้ำลม ใกล้กันเป็นที่ตั้งของเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งมีถ้ำสวยงาม บริเวณตรงกลางเป็นที่ดินในหุบเขามีเนื้อที่กว้างขวางมากซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดและโรงเรียนลานสักวิทยา ถ้าเดินทางจากอำเภอหนองฉางสู่อำเภอลานสัก ถ้ำเขาฆ้องชัยนี้จะอยู่ก่อนถึงอำเภอลานสักประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าโรงเรียนลานสักวิทยาไปประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณถ้ำเขาฆ้องชัย

:: สวนป่าห้วยระบำ ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลระบำ ห่างจากตัวจังหวัด 78 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 11,740 ไร่ เป็นสวนป่าปลูกของ บริษัท ไม้อัดไทย ปลูกไม้สัก และไม้ยูคา สนประดิพัทธ์ ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมแปลงป่าที่ปลูกใหม่ได้ หากต้องการพักค้างคืน มีเรือนพักรับรอง (รองรับได้ประมาณ 30 คน) แต่ต้องเตรียมเสบียงไปเอง หน้าแล้งมีน้ำน้อย หน้าฝนทางค่อนข้างลำบากไม่แนะนำให้นำรถยนต์นั่งเข้าไป รายละเอียดติดต่อ บริษัท ไม้อัดไทย โทร. 0 5651 1094 หรือ สำนักงานป่าไม้จังหวัด โทร. 0 5631 1009 การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 3438 ประมาณ หลักกิโลเมตรที่ 46 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 16 กิโลเมตร

:: เขื่อนทับเสลา ::
ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลระบำ จากอำเภอลานสัก ไปตามทางหลวงหมายเลข 3438 เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 47 จะถึงทางแยกเข้าเขื่อนทับเสลา เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดชมวิว หากมาจากตัวเมืองทางเข้าจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ เขื่อนทับเสลาเป็นเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่ กั้นลำห้วยทับเสลา ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม มีภูเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง บริเวณตอนใต้ของเขื่อนมีสภาพเป็นป่าเต็งรังและสวนป่าปลูก คนในท้องถิ่นนิยมมาพักผ่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ มีร้านค้าสวัสดิการขายอาหารอยู่ 3 - 4 ร้าน

:: เขาพระยาพายเรือ ::
อยู่ในเขตตำบลลานสัก ห่างจากอำเภอเมือง 59 กิโลเมตร ตามทางสู่อำเภอลานสักตรงหลักกิโลเมตรที่ 29 - 30 แยกขวาเข้าที่ว่าการอำเภอลานสัก และเข้าทางลูกรังไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงเชิงเขาแล้วเดินขึ้นสู่ปากถ้ำอีกประมาณ 150 เมตร เป็นเขาลูกเล็กสูง 257 เมตร เมื่อมองจากระยะไกลจะแลดูคล้ายเรือสำเภาลำหนึ่ง บนยอดเขามีจุดชมทิวทัศน์ ภายในประกอบด้วยถ้ำเล็กๆ เชื่อมต่อกัน ได้แก่ ถ้ำแก้ว ถ้ำสีชมพู ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำอ่างน้ำมนต์ และถ้ำพุทธสถาน ภายในถ้ำซับซ้อนมากจึงต้องมีป้ายบอกทางและมีไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเที่ยวชม ความงามของหินงอกหินย้อย ตอนบนของถ้ำมี พระนอนขนาดใหญ่ ส่วนทางเข้าถ้ำต่างๆ นั้นอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีทางเข้าทางเดียว ซึ่งเป็นทางลึกถึงข้างล่าง และมีบันไดลงไปได้ถึงก้นถ้ำ

:: เขาผาแรด ::
ตั้งอยู่ที่ตำบลลานสัก อยู่หลังที่ว่าการอำเภอลานสัก ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เขาผาแรดนี้อยู่ห่างจากเขาพระยาพายเรือประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นเขาลูกเล็กๆ มีความสูงประมาณ 376 เมตร ภายในเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของถ้ำซึ่งมีหินงอกหินย้อย พร้อมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว และมีสำนักสงฆ์อยู่ใกล้เชิงเขา

:: บ้านนาตาโพ ::
ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ อยู่ห่างจากอำเภอบ้านไร่ไปทางทิศตะวันออก 1.5 กิโลเมตร พื้นเพดั้งเดิมเป็นชาว "ลาวครั่ง" ซึ่งอพยพมาอยู่ในดินแดนไทยกว่า 300 ปีมาแล้ว เหตุที่ได้ชื่อว่า "ลาวครั่ง" เพราะนิยมนุ่งผ้าสีแดงเวลาไปงานพิธีต่าง ๆ ซึ่งสีแดงที่ย้อมผ้าสกัดมาจาก "ตัวครั่ง" ตามธรรมชาติ เป็นชุมชนที่มีความสามารถในการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ฝีมือประณีตละเอียด ในวันที่ 17 เมษายนของทุกปี จะมีงานทอดผ้าป่าแห่ดอกไม้และแสดงวัฒนธรรมการผูกตุง มีการฟ้อนรำนางด้ง รำนางแคน และการละเล่นมวยโบราณซึ่งเป็นวัฒนธรรมของลาวโบราณ มีบริการโฮมสเตย์ ติดต่อศูนย์กลางชุมชน โทร. 0 1971 0521

:: น้ำตกตาดดาว ::
เลยจากปากทางเข้าถ้ำเกร็ดดาวไปเล็กน้อย ฟากตรงข้ามเป็นทางเข้าน้ำตกตาดดาว ไหลผ่านโขดหินลงมาเป็นชั้นๆ 9 ชั้น บริเวณโดยรอบเป็นป่าสมบูรณ์

:: ถ้ำพุหวาย ::
ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ถ้ำพุหวาย เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำกว้างขวาง มีหินงอกหินย้อย เช่น รูปเจดีย์ อ่างน้ำ ทางเข้าถ้ำอยู่บนไหล่เขาต้องเดินขึ้นไป อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีโพรงทะลุถึงด้านตรงข้ามของภูเขา มีค้างคาวอาศัยอยู่ 9 ชนิด ติดต่อคนนำทางทางได้บริเวณปากถ้ำ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง ทางด้านหลังของถ้ำพุหวาย คือ ถ้ำเทพมาลีหรือถ้ำพญานาค เป็นถ้ำขนาดเล็กค่อนข้างลึกมีความสวยงามตามธรรมชาติของหินงอกหินย้อย ยอดเขาพุหวาย สูง 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่กว้างไกลอย่างสวยงาม บนสันเขามีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่ค่อนข้างสมบูรณ์ การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 3011 แยกเข้าทางเดียวกับสวนห้วยป่าปกรีสอร์ท และวัดถ้ำเขาวง แต่ทางไปถ้ำจะอยู่เลยจากแยกเข้าวัดถ้ำเขาวงไปประมาณ 4 กิโลเมตร

:: ถ้ำเกร็ดดาว ::
เลยจากศูนย์วัฒนธรรมบ้านอีมาด - อีทราย ไปไม่ถึง 1 กิโลเมตร จะมีเส้นทางเดินเท้าต่อไปถ้ำเกร็ดดาวได้ จากปากถ้ำจะมีบันไดไม้ไผ่ทอดยาวลงไปในถ้ำ เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ ในถ้ำมีแท่งหินขนาดใหญ่ เมื่อถูกแสงจะเป็นประกาย เพดานถ้ำเต็มไปด้วยค้างคาว และชาวบ้านได้อาศัยขี้ค้างคาวไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับใส่ไร่นา สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยเวลาเที่ยวถ้ำ คือ ไฟฉาย

:: ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาบ้านอีมาด - อีทราย ::
อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.แก่นมะกรูด ถือว่าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชาวเขาที่อยู่ที่นี่เป็นชาวกะเหรี่ยง มีชีวิตที่สงบและเรียบง่าย และยังคงเคร่งครัดในประเพณีดั้งเดิม งานประเพณีที่น่าสนใจของที่นี่ เช่น งานไหว้เจดีย์ ซึ่งจะมีการรำวงรำดาบ และงานไหว้ต้นโพธิ์ ฯลฯ ญาติพี่น้องที่แยกย้ายจะกลับมารวมตัวกัน ประเพณีทั้งสองนี้จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี กำหนดวันจัดงานจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของท้องถิ่น เช่นเก็บเกี่ยวผลผลิตในท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญหมู่บ้านนี้มีข้อห้ามในการเล่นการพนัน และดื่มสุรา ผู้มาเยือนสามารถพักค้างคืนที่บ้านชาวกะเหรี่ยง ที่หมู่บ้านเจ้าวัดยางแดง หรือบ้านพักในศูนย์วัฒนธรรมซึ่งในบริเวณมีพิพิธภัณฑ์ชาวเขาอยู่ด้วย ติดต่อ โทร. 0 5651 2026 ในเวลาราชการ และมีงานหัตถกรรม ผ้าทอพื้นเมือง เครื่องจักสานไม้ไผ่ และสินค้าเกษตรตามฤดูกาลมาจำหน่าย เช่น พริกแห้ง การเดินทาง จากอำเภอบ้านไร่ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3011 ประมาณ 20 กิโลเมตร สุดถนนลาดยาง และไปต่อตามถนนลูกรังอัดอีก 1 กิโลเมตร

:: สวนพฤกษศาสตร์ ::

เลยจากศูนย์วัฒนธรรมมาประมาณ 5 กิโลเมตรจะถึงสวนพฤกษศาสตร์ มีสภาพเป็นเหมือนธรรมชาติ ไม่ได้มีการตกแต่งให้มีความสวยที่ต่างไปจากสภาพธรรมชาติ มีอากาศเย็นสบาย ใช้เวลาเดินสบายๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง ต้นไม้ที่อยู่ในสวนนี้เป็นไม้ท้องถิ่นพบในป่าบริเวณนี้ เป็นสวนที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พืชหลายชนิดมีประโยชน์ เช่น สะเดาป่า นำผลและใบมาทำยาป้องกันแมลง ต้นสบู่ นำผลแก่มาอาบน้ำ สระผม ซักเสื้อผ้า ลางจืด มีสรรพคุณแก้เมา บางอย่างก็มีพิษ เช่น ขนของต้น ช้างร้อง มีฤทธิ์ทำให้ให้คันหากโดนเข้าจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ยาน่อง มียางที่เป็นพิษ พรานสมัยก่อนนำมาทาที่ปลายลูกดอกเพื่อใช้ล่าสัตว์ เป็นต้น

:: ตลาดนัดวัว - ควาย หนองหญ้าปล้อง ::
อยู่ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง ใกล้กับโรงเรียนทัพทันอนุสรณ์ เดินทางจากอำเภอทัพทันไปตามถนนสายทัพทัน - สว่างอารมณ์ (ทางหลวงหมายเลข 3013) ตลาดจะอยู่ด้านขวามือ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบตลาดนัดโค กระบือซึ่งเป็นตลาดที่มีบริเวณพื้นที่ซื้อขายกว้างใหญ่ ในแต่ละครั้งจะมีวัวควายถูกนำมาขายนับพันตัว ตลาดนัดจะมีบางวันและมีวัวควายสับเปลี่ยนกันมาขายในบางวัน ยังมีข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับวัวควายมาขายด้วย ตลาดจะวายในช่วงเย็น

:: เขาปฐวี ::
อยู่ในตำบลตลุกดู่ เป็นเทือกเขาขนาดเล็กยาวประมาณ 750 เมตร สูง 253 เมตร มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินที่เรียงซ้อนกันเป็นยอด ค่อนข้างสูงชัน มีถ้ำอยู่เรียงรายโดยรอบประมาณ 30 ถ้ำ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เช่น ถ้ำประทุน ถ้ำบันได ถ้ำอ่าง ถ้ำช่องลม ถ้ำพุทธประวัติ ถ้ำปลา และถ้ำค้างคาว เป็นต้น สามารถปีนไต่ตัวยอดเขาได้ บริเวณลานกว้างหน้าเขามีร่มไม้และฝูงลิงจำนวนมาก มีผู้คนนิยมมาเที่ยวชมฝูงลิงและชมถ้ำอยู่เสมอ เขาปฐวีนี้พบเครื่องมือหินและโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ การเดินทาง จากอำเภอเมืองอุทัยธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 3013 เข้าสู่อำเภอทัพทัน จากอำเภอทัพทันมีเส้นทางไปยังเขาปฐวีอีกเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 18 กิโลเมตร

:: แหล่งทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ ::
ชาวบ้านโคกหม้อเป็นชาวลาวครั่งที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีฝีมือการทอผ้ามาก หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจการทำนาผู้หญิงในหมู่บ้านจะทอผ้ากัน ผ้าทอนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวลาวครั่งที่สืบทอดต่อกันมา 200 กว่าปี ผ้าที่ทอจะเป็นผ้ามัดหมี่ต่อตีนจก ผ้ายกดอกลายเชิงแบบเก่า ลวดลายบนผ้าเป็นแบบโบราณ เช่น ลายด่านเมืองลาว ลายนาค ลายด่านใหญ่ เป็นต้น และในสมัยก่อนจะใช้ครั่งในกรรมวิธีการย้อม กลุ่มที่ทอมีอยู่สองกลุ่ม คือ ศูนย์ทอผ้าบ้านโคกหม้อ อยู่ข้างวัดโคกหม้อ เป็นกลุ่มที่ทอผ้าไหม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มทอผ้าบ้านโคกหม้อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 หลัง อบต. โคกหม้อ เป็นกลุ่มที่ทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ การเดินทาง จากอำเภอทัพทันไปตามทางหลวงหมายเลข 3013 ทางไปสว่างอารมณ์ ประมาณ 9 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3456 ตรงไปมีป้ายบอกให้แยกซ้ายไปบ้านโคกหม้อ ประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงวัดโคกหม้อ

:: พระแสงดาบศัสตราวุธประจำเมืองอุทัยธานี ::
สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระแสงดาบที่จังหวัดอุทัยธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2449 พระแสงดาบนี้พระราชทานแก่จังหวัดอุทัยธานีเป็นลำดับที่ 3 (อันดับ 1 เมืองอยุธยา อันดับ 2 เมืองชัยนาท) พระแสงดาบศัสตราวุธ เป็นดาบไทยทำด้วยเหล็กสีขาวอย่างดี ปลายแหลม คมด้านเดียว มีน้ำหนักเบา สันเป็นลาย ฝังงาในเนื้อเหล็กรูปดอกไม้ร่วง และริมสันทั้งสองข้างมีลายทองเป็นรูปก้านขด โคนตรงกลางมีจารึกนามอักษร พระแสงสำหรับเมืองอุไทยธานี ด้ามพระแสงทำด้วยไม้เนื้อแข็งหุ้มทองลงยา โคนเป็นลายกนกตาอ้อย ปลายด้ามเป็นรูปจุฑามณีบัวคว่ำ 3 ชั้น ประดับด้วยพลอย ต้นฝักพระแสงทำด้วยทองคำเป็นรูปรักร้อยประดับพลอย มีกาบกนกหุ้มต้นฝักทำด้วยทองคำเป็นลายก้านขด ช่อดอกแกมใบประดับพลอย ตัวฝักพระแสงทำด้วยทองคำดุน ฝักทั้งสองข้างมีลวดลายต่างๆ สวยงามมาก นับเป็นศิลปกรรมฝีมือเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นพระแสงดาบสำคัญประจำเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดอุทัยธานี จะนำออกให้ชมเฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น

:: ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ::
ตั้งอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนถนนศรีอุทัย(ใกล้ศาลากลางจังหวัด) ภายในจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องพัฒนาอาชีพ ห้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีห้องจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ห้องแสดงเครื่องแต่งกายเสื้อผ้ายศเจ้าเมือง ห้องจำลองไม้จำหลักและบ้านไทย การเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 5651 1511

:: เขาสะแกกรัง ::
จากบริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรีมีบันไดขึ้นไปสู่ยอดเขาสะแกกรัง หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 3220 จะพบทางแยกขึ้นเขาเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวบริเวณสนามกีฬาจังหวัดไปตามทางขึ้นสู่ยอดเขา จากบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองอุทัยธานีได้กว้างขวาง เป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ด้านหน้ามีระฆังใบใหญ่ที่พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 ถือกันว่าเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครที่ไปเที่ยวอุทัยธานีแล้วไม่ได้ขึ้นไปตีระฆังใบนี้ก็เท่ากับไม่ได้ไปเที่ยวอุทัยธานี ใกล้กับมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนามเดิมว่านายทองดี รับราชการตำแหน่งพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย และต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมนายทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดาเป็นสมเด็จพระชนกาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2338 พระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริงประทับนั่งบนแท่นพระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย และทรงวางพระหัตถ์ขวาบนพระเพลาขวา ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า (ขนนก) สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้นพระบาท มีพิธีถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานีบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปบนเขาสะแกกรัง เลยพระราชานุสาวรีย์ไปทางป่าหลังเขา ประมาณ 200 เมตร จะพบ หมุดแผนที่โลก ซึ่งใช้ในการสำรวจแผนที่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

:: เกาะเทโพ ::
เดิมเป็นแหลมยื่นออกมาคั่นระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำทั้งสองสายจะมาบรรจบกันทางทิศใต้ของแหลม และมีการขุดคลองเชื่อมทางเหนือในภายหลัง เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยามาหนุนแม่น้ำสะแกกรังในยามน้ำแล้ง แหลมนี้จึงกลายเป็นเกาะเทโพ ที่เกาะเทโพนี้เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชอบปั่นจักรยานท่องเที่ยว หลังจากข้ามสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างตลาดสดเทศบาลและวัดอุโบสถาราม ซึ่งไม่ยาวนักและขนาดเล็กเพียงรถมอเตอร์ไซค์สวนกันได้ ก็นับเป็นการเริ่มต้นการเดินทางบนเกาะเทโพ บรรยากาศสองข้างจะเป็นป่าไผ่ ไร่ข้าวโพด และทุ่งนาให้บรรยากาศที่สงบร่มรื่น ชาวบ้านที่นี่ทำสวนส้มโอ มีทั้งพันธุ์มโนรมย์ และขาวแตงกวา และยังปลูกมะไฟด้วย เมื่อผ่านบ้านท่าดินแดงจะเห็นเสื่อลำแพนวางขายอยู่ ชาวบ้านใช้ต้นไผ่ที่มีอยู่หนาแน่นในพื้นที่นำมาสานเสื่อ และวางขายกันที่หน้าบ้าน ไม่ได้ส่งตลาด หากเดินทางต่อไปถึงวัดภูมิธรรม ก็จะมีศาลาให้นั่งพักตากลมได้ บรรยากาศในวัดเงียบสงบ เมื่อปั่นจักรยานครบรอบเส้นทางที่กำหนดไว้ก็จะถึงท่าเรือที่จะข้ามไปวัดท่าซุงได้ รวมระยะทางปั่นจักรยานบนเกาะทั้งหมด 33 กิโลเมตร แผนที่เกาะเทโพ และตัวเมืองอุทัยธานี สามารถ ติดต่อได้ที่ คุณ ประสงค์ ศรีเมือง ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดอุทัยธานี (ร้านเจริญจักรยาน) 100 - 102 ถนนท่าช้าง อำเภอเมือง โทร. 0 5651 1991 ได้ทุกวัน

ลำซิ่งบัวผัน ศรีจันทร์